MBA HOLIDAY

Custom Search

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การกำกับดูแล (Governance)

การกำกับดูแล (Governance) ได้มีนักวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษริเริ่มนำมาใช้แพร่หลาย ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และต่อมาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นคำว่า การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ซึ่งเป็น แนวคิดและกระบวนการที่องค์กรพึงปฏิบัติ กรอบแนวคิดการกำกับดูแลกิจการจะมีส่วนปลีกย่อยแตกต่างไปตามรูปแบบของการจัด ตั้งองค์กร เช่น บริษัทมหาชน บริษัทเอกชน ต่างก็มีรูปแบบการกำกับดูแลกิจการที่แตกต่างกันตามกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) นอกจากนี้ การกำกับดูแลกิจการ ในอุตสาหกรรมที่ต่างกันก็มักจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันตามลักษณะ ของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
          การกำกับดูแลกิจการ เป็นแนวคิดและกระบวนการหรือข้อพึงปฏิบัติขององค์กร ซึ่งไม่มีรูปแบบเดียวเป็นมาตรฐานตายตัว มักอิงอยู่กับสามัญสำนึกและดุลพินิจเป็นหลักใหญ่ โดยยึดหลัก สาระมีความสำคัญเหนือรูปแบบ (substances over form) (นวพร เรืองสกุล 2545, 3) มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า การกำกับดูแลกิจการ ไว้หลายความหมาย เป็นต้นว่า องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for economic cooperation and development: OECD)  ได้ให้คำจำกัดความของ  การกำกับดูแลกิจการ ไว้ว่า "Corporate governance involves a set of relationships between a company’s management, its board, its shareholders and other stakeholders. Corporate governance also provides the structure through which the objectives of the company are set, and the means of attaining those objectives and monitoring performance are determined.” (OECD, 2004, p.11) ตามคำจำกัดความของ OECD การกำกับดูแลกิจการ ก็ คือ ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพึงได้รับการปฏิบัติอย่างอย่างเป็นธรรม นั่นคือ เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้ซื้อสินค้า ผู้ขายสินค้า พนักงานลูกจ้าง เจ้าหนี้ รัฐบาล และสังคมโดยรวม ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม (Fairness) และเสมอภาค นอกจากนี้ การ กำกับดูแลกิจการ ยังหมายความรวมถึง ระบบการบริหาร และควบคุมการดำเนินงานภายในของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นในระยะยาว[1] ทั้งนี้แต่ละองค์กรในแต่ละประเทศ ก็ย่อมที่จะมีโครงสร้างและเกณฑ์กำหนดในเรื่อง การกำกับดูแลกิจการ ที่แตกต่างกันออกไป
          ในประเทศไทยนั้น คำว่า การกำกับดูแลกิจการ ในระยะหลัง องค์กรส่วนใหญ่มักใช้คำว่า      ธรรมาภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ บรรษัทภิบาล (Good corporate governance) การใช้คำว่า ธรรมาภิบาล ในประเทศไทยนั้น อาจจะสะท้อนมุมมองของวัฒนธรรมไทยในเรื่องของหลักศาสนา ที่ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี คือการปกครองโดยยึดหลักธรรมเป็นที่ตั้ง  คำว่า ธรรมาภิบาล เกิดจากการสนธิของคำว่า “ธรรม” และ “อภิบาล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความนิยามของคำว่า “ธรรม” และ “อภิบาล” ไว้ว่า “ธรรม” หมายถึง “คุณความดี คําสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎ กฎเกณฑ์ กฎหมาย”  ส่วนคำว่า “อภิบาล” หมายถึง “การบำรุงรักษา การปกครอง”    ดังนั้นคำว่า ธรรมาภิบาล จึงสามารถแปลได้ว่า การจัดระบบการปกครอง การบริหารจัดการ รวมถึงการสอดส่องดูแล โดยยึดหลักธรรมทางศาสนา ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ความดี กฏระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายเพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมและความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวงแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กร  
          ในส่วนของภาครัฐมักใช้คำว่า ธรรมาภิบาล อันหมายถึง การบริหารของภาครัฐที่มุ่งความดีงาม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ และประชนอย่างทั่วถึงและยุติธรรม แนว คิดของธรรมาภิบาลในภาครัฐได้ริเริ่มในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการบรรจุแนวคิดของธรรมาภิบาลไว้ในเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งหมายถึง ธรรมาภิบาลของรัฐ   ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหาร กิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หลักการธรรมาภิบาลของรัฐ ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า          
          ในส่วนของภาคเอกชนมักใช้คำว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ บรรษัทภิบาล แนวคิดเรื่องบรรษัทภิบาล เป็นที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในระดับสากล นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย และกรณีการล่มสลายของบริษัท ENRON และ WORLDCOM เป็นต้นมา บรรษัทภิบาลทวีความสำคัญสำหรับองค์กรที่เป็นบริษัทมหาชน เนื่องจากต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง (ผู้มีส่วนได้เสีย) มากมายหลายฝ่าย เช่น ผู้ถือหุ้นภายนอก (Outside shareholders) พนักงานลูกจ้าง ชุมชน สังคมส่วนรวม นั่นคือ ผู้ถือหุ้นภายนอก ต้องได้รับความคุ้มครองในการลงทุน พนักงานลูกจ้างต้องได้รับความคุ้มครองในด้านสิทธิมนุษยชน สังคม ส่วนรวมต้องได้รับความพิทักษ์ ดังนั้น องค์กรต้องจึงต้องจัดให้มีระบบการบริหารงาน การควบคุมสอดส่องดูแลเพื่อพิทักษ์และปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียใน ระยะยาว อันจะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวด้วยเช่นกัน
          บรรษัทภิบาลมีหลายมุมมอง แต่หากมองในภาพรวมตามคำนิยามที่กำหนดโดย OECDนั้น จะครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ส่วน (ดังภาพ 1) กล่าวคือ 1) โครงสร้างและกระบวนการภายในที่ใช้ในการประเมินผลงานของฝ่ายบริหาร 2) ความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายบริหารจัดการ ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอื่นในการสอดส่องดูแลผลปฏิบัติงานของบริษัท และ 3) ระบบการควบคุมภายในเพื่อควบคุม ตรวจสอบและป้องกันความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น ในยาว ภายในกรอบการมีจริยธรรมที่ดี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนวคิดทางการตลาด

NEWS

  • การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management - *การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management* คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพ...
    3 ปีที่ผ่านมา
  • ปวดหลัง - * อาการปวดหลังร่วมกับแขนขาชาไม่มีแรง* กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นไปได้ว่าไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทางที่ดีควรรีบปรึก...
    7 ปีที่ผ่านมา