การผลิตสินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าย่อมต้องการวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากผู้ขายมาเป็นปัจจัยนำเข้าเพื่อให้ฝ่ายผลิตใช้ทำการผลิตให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วส่งให้ลูกค้าซึ่งกิจกรรมการป้อนวัตถุดิบกิจกรรมการแปรสภาพและกิจกรรมการจัดจำหน่ายสิ้นค้าสำเร็จรูปแก่ลูกค้าได้บังเกิดขึ้นในเครือข่ายที่โยงใยหลายกิจการมาเกี่ยวข้องกัน โดยมีการดำเนินการต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่ของสินค้า( Supply Chain )การปรับปรุงพัฒนาห่วงโซ่ของสิ้นค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้าที่ได้รับสินค้าที่เขาต้องการ ในเวลาที่ต้องการ และมีปริมาณตามที่กำหนดไว้ โดยเสียค่าใช้จ่ายโดยรวมตลอดสายห่วงโซ่ที่ต่ำซึ่งจะมีผลให้องค์การธุรกิจมีกำไรเพิ่มมากขึ้นด้วยในที่สุด ดังนั้นการบริหารห่วงโซ่ของสินค้าจึงก่อประโยชน์ร่วมกันทั้งตัวลูกค้าและธุรกิจ
การบริหารห่วงโซ่ของสินค้า (Supply Chain Management) เป็นการประสานงานกันของกิจกรรมต่างๆระหว่างผู้ขาย ( Supplier )กับผู้ผลิตและผู้ผลิตกับลูกค้าเพื่อที่จะนำสินค้าและบริการไปตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลาและเชื่อถือได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายรวมตลอดสายห่วงโซ่ที่ต่ำสุด การบริหารห่วงโซ่ของสินค้าที่มีประสิทธิภาพจะนำมาซึ่งจุดเด่นให้องค์กาธุรกิจ ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน( Competitive Advantage )ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าและต้นทุนที่ต่ำสุดได้
ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเกิดความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าและต้นทุนที่ต่ำสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารห่วงโซ่ เช่น ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ตัวแทนจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ฯลฯ ประสานการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่แบ่งแยกหน้าที่การดำเนินงานเป็นแต่ละองค์การแต่ละหน้าที่อย่างที่เคยเป็นมาองค์การธุรกิจในห่วงโซ่ของสิ้นค้าต้องทำการปฏิรูประบบงาน ( Reengineering ) โครงสร้างของตนให้สอดคล้องกับกระบวนการดำเนินงานธุรกิจตลอดสาย โดยกำจัดขอบเขตกีดขวางระหว่างหน้าที่และองค์การออกเพื่อที่จะสามารถบรรลุถึงการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุดซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม ตลาด และองค์การของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้าใจในทำนองเดียวกันนี้กับผู้ขายที่เป็นผู้ป้อนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนแก่กระบวนการผลิตด้วย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
การบริหารห่วงโซ่ของสินค้า มี 3 องค์ประกอบหลัก ดังต่อไปนี้
5.2.1 เครือข่ายของผู้ขาย( Supplier Network )ประกอบด้วยกลุ่มผู้ขายภายในและภายนอกองค์การซึ่งเสนอวัตถุดิบและชิ้นส่วนตลอดจนการบริการให้แก่องค์การธุรกิจ กิจกรรมหลักของเครือข่ายของผู้ขายคือการส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนเข้าสู่กระบวนการการผลิตซึ่งเรียกว่า Physical Supply หรือ Inbound Logistics ความรับผิดชอบของเครือข่ายผู้ขายนี้จะครอบคลุมเรื่องการจัดซื้อการขนส่งสินค้าเข้ามาสู่กระบวนการผลิตและการเก็บรักษาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน โดยใช้ทรัพยากรขององค์การธุรกิจที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด
5.2.2 ส่วนงานของการผลิต ( Manufacturing Unit ) เป็นกระบวนการขั้นตอนในการผลิตที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป กระบวนการนี้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายผลิตภายในองค์การที่จะทำการวางแผนจัดตารางการผลิตและปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการผลิตตั้งแต่เวลาที่นำวัตถุดิบเข้ามาในกระบวนการจนผลิตเสร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูป
โดยช่วยเหลือแต่ละงานของการผลิตในด้านการวางแผนและควบคุมกระบวนการ การจัดการระบบสินค้าคงคลัง วางแผนการผลิตรวม การวางแผนกำลังการผลิตและการบริหารการผลิตแบบทันเวลาพอดี
5.2.3 เครือข่ายของลูกค้า ( Customer Network ) เป็นกลุ่มของผู้ที่อยู่ในช่องทางของการจำหน่ายสินค้า นับตั้งแต่นายหน้า ตัวแทนจำหน่าย ผู้ค้าส่งผู้ค้าปลีกที่รับสินค้าต่อจากผู้ผลิตไปขายต่อตลาดจนผู้ใช้รายสุดท้ายซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อสิ้นค้าไปใช้ เครือข่ายของลูกค้านี้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายกระจายสินค้า ( Outbound Logistics ) ที่จะจัดการให้สินค้าถึงมือลูกค้าตามที่ลูกค้าคาดหวังเอาไว้ด้วยกิจกรรมการพยากรณ์การผลิตการเก็บรักษาสินค้าสำเร็จรูปไว้ในคลังสินค้า การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การให้ข้อมูลข่าวสาร การรับประกันและการบริการลูกค้า โดยรักษาระดับต้นทุนการจัดการกิจกรรมเหล่านี้ไว้ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด
ดังนั้นสามารถเขียนแผนภาพเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของวิวัฒนาการของการบริหารห่วงโซ่สินค้า
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น